ขนมไทยมงคล หรือ ขนมไทยที่นิยมนำมาใช้ประกอบพิธีมงคลต่าง ๆ ของคนในประเทศไทยไม่ว่าจะยุคใดสมัยใดก็ตาม ล้วนแล้วแต่เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นเพื่อความเป็นสิริมงคลและเพื่อนำพาสิ่งดี ๆ มาสู่ผู้ที่รับประทาน
ซึ่งในปัจจุบันขนมไทยที่ถูกนำมาประกอบพิธีมงคลก็อาจจะมีอยู่ไม่กี่ชนิดที่คุ้นหน้าคุ้นตากันดี แต่รู้หรือไม่ว่ายังมีขนมไทยที่นิยมนำมาใช้ในพิธีมงคลในอดีตอยู่อีกไม่น้อย ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความหมายลึกซึ้งไม่แพ้กันเลยทีเดียว
ในอดีตขนมไทยที่เราเห็นกันในปัจจุบันล้วนถูกรังสรรค์ขึ้นมาเพื่อประโยชน์ในการใช้ประกอบพิธีสำคัญหรืองานมงคลของเจ้านายและชาววังในสมัยก่อนเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นรูปลักษณ์หรือวัตถุดิบรวมทั้งกระบวนการทำจึงจำเป็นต้องอาศัยความปราณีตและพิถีพิถันอย่างที่สุด
โดยเริ่มแรกเดิมทีขนมไทยมงคลนั้นถือเป็นสัญลักษณ์ของการแลกเปลี่ยนและวิวัฒนาการของวัฒนธรรมทางด้านอาหารที่เจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยที่ ‘สยาม’ หรือประเทศไทยมีการเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่าง ๆ ที่เข้ามาทำการค้าขายและเผยแพร่ศาสนา
จากนั้นจึงเกิดการปรับปรุงและดัดแปลงขนมไทยมงคลให้มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะและเหมาะสมกับความเป็นไทยมากขึ้น จนกลายมาเป็นขนมไทยมงคลที่นอกจากจะมีความสวยงามแล้วยังเป็นขนมแห่งความมงคลที่ส่งผลต่อจิตใจผู้ทานอีกด้วย
และเนื่องจากประวัติของขนมไทยไม่ปรากฏแน่ชัดว่าเริ่มมาตั้งแต่ตอนไหน และก็มีบรรดาขนมมากมายที่มีความสำคัญและเป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมรวมทั้งชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย แต่ขนมไทยมงคลที่ใช้กันในพิธีสำคัญจะเป็นที่นิยมและเจริญรุ่งเรืองมากในสมัยอยุธยาเป็นต้นมา
ดังนั้นนี่จึงเป็นเพียง ‘ส่วนหนึ่ง’ ของบรรดาขนมไทยอันเลื่องชื่อเท่านั้น หากใครที่สนใจเกี่ยวกับเรื่องราวดี ๆ ของขนมหวานชนิดอื่นอีกมากมายก็สามารถติดตามได้ในบทความถัด ๆ ไป
แต่สำหรับบทความนี้เราจะมาแบ่งปันกันว่ามีขนมไทยมงคลใดบ้างที่นิยมใช้ในเทศกาลสำคัญต่าง ๆ รวมไปถึงการทำความรู้จักกับขนมแต่ละประเภทว่ามีที่มาที่ไปอย่างไรกันด้วย
ทองเอก
ขนมไทยมงคลรูปร่างสวยงามคล้ายดอกไม้ และมีความโดดเด่นกว่าขนมประเภทอื่นตรงที่จะมีการแปะทองคำเปลวสว่างไสวเอาไว้ที่ด้านบนของตัวขนม ทำให้มีความสวยงามเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งขนมไทยมงคลอย่างทองเอกได้รับอิทธิพลมาจากประเทศแถบตะวันตกที่เข้ามาค้าขายกันในช่วงนั้น
ซึ่งคำว่า ‘ทองเอก’ หมายถึง ความมีคุณค่า เลอค่าดุจทอง และยังหมายถึงความเป็นหนึ่ง ดังนั้นจึงมักใช้ขนมไทยมงคลชนิดนี้ในการเฉลิมฉลองหรือพิธีเลื่อนตำแหน่งต่าง ๆ
เสน่ห์จันทน์
ขนมเสน่ห์จันทนืเป็นขนมไทยมงคลที่ได้รับความนิยมมากในอดีตเนื่องจากมีความเฟื่องฟูของศิลปศาสตร์แขนงต่าง ๆ รวมทั้งบทกวีและเพลงประพันธ์มากมายทำให้ขนมไทยก็ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมเหล่านี้ด้วย
ซึ่งเสน่ห์จันทน์เป็นขนมที่สื่อถึงความมีเสน่ห์หรืออวยพรให้ผู้รับมีแต่คนนิยมรักใคร่ และเนื่องจาก ‘ผลจันทน์’ เป็นไม้ที่มีกลิ่นหอมจึงเกิดเป็นตำนานที่เล่าขานถึงกลิ่นเย้ายวนใจของเจ้าผลจันทน์ จากนั้นจึงเกิดการทำขนมชนิดนี้ขึ้นและได้รับความนิยมสืบมานั่นเอง
โดยในความเป็นจริงนั้นขนมเสน่ห์จันทร์ก็มีการนำเอาผลลูกจันทร์ป่นมาใช้เป็นส่วนผสมสำคัญ ทั้งยังปั้นตัวขนมเลียนแบบผลจันทร์อีกด้วย
ขนมชั้น
ขนมชั้นเป็นขนมไทยมงคลที่มีรสสัมผัสแตกต่างจากขนมประเภทอื่น ๆ คือไม่ได้มีความนวลเนียนละมุนลิ้น แต่เมื่อทานไปแล้วจะได้ความรู้สึกเหนียวหนึบหอมหวานแทน ซึ่งความโดดเด่นของขนมชั้นก็คือการที่สามารถลอกชั้นขนมทานทีละชั้นได้(คล้ายคลึงกับเครปเค้กในปัจจุบัน)
โดยขนมประเภทนี้มักจะใช้อวยพรกันเนื่องในโอกาสสำคัญทางหน้าที่การงานต่าง ๆ เพราะคำว่า ‘ชั้น’ ในที่นี้ก็หมายถึงตำแหน่งหรือลำดับขั้นนั่นเอง โดยในสมัยก่อนขนมชั้นจะนิยมทำให้มี 9 ชั้น เนื่องจากเป็นเลขมงคลอีกด้วย
ขนมตระกูล ‘ทอง’
ขนมไทยมงคลตระกูล ‘ทอง’ ทั้งหลายของไทยถือเป็นขนมมงคลที่เป็นที่รู้จักกันดี เนื่องจากยังสามารถพบเห็นได้ตามงานพิธีต่าง ๆ ในปัจจุบัน และยังคงเป็นขนมที่นิยมทานกันเพื่อความเป็นสิริมงคล
โดยขนมตระกูลทองนั้นก็คือขนมไทยมงคลที่ขึ้นต้นด้วยคำว่าทอง เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ทองม้วน ทองพลับ เป็นต้น ซึ่งขนมเหล่านี้เราก็มักจะเห็นในงานแต่งหรืองานขึ้นบ้านใหม่โดยมีขนมประเภทอื่น ๆ ประกอบกันด้วย เช่น เม็ดขนุน ฝอยทอง ขนมชั้น ที่มักจะเป็นขนมหวานงานแต่งโดยทั่วไป
และอย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าขนมไทยมงคลที่เราจะพบได้บ่อยครั้งก็คือขนมจำพวก ‘ทอง’ ต่าง ๆ รวมไปถึง เม็ดขนุน ฝอยทอง และอื่น ๆ ซึ่งนิยมใช้ในงานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่หรืองานบวชเป็นต้น(เป็นเพียงการยกตัวอย่างเนื่องจากขนมไทยมงคลมีมากมายหลายประเภท)
โดยความสำคัญของฝอยทอง ทองหยิบ ทองหยอด เม็ดขนุน ก็เป็นการอวยพรคู่บ่าวสาวให้มีแต่ความมงคลโดยขนมแต่ละประเภทก็จะมีความหมายแอบแฝงเอาไว้มากมาย หรือเป็นการเตือนสติและสอนให้ระลึกถึงความหมายดี ๆ เหล่านี้ในทุกครั้งที่ได้ทานขนมนั่นเอง
ซึ่งฝอยทองจะหมายถึงการที่อวยพรให้มีชีวิตหรือครองคู่กันต่อไปอย่างยืนยาวประหนึ่งความยาวและความเหนียวของเส้นฝอยทองที่เรียงตัวกันแน่นนั่นเอง
เม็ดขนุน หมายถึง การสนันสนุนเกื้อกูลกัน
ทองหยิบ หมายถึง ชีวิตที่ร่ำรวยมั่งคั่ง หยิบจับสิ่งใดเป็นเงินเป็นทอง
ทองหยอด หมายถึง สิ่งที่เป็นมงคล เปรียบเสมือนการมอบทองคำล้ำค่าให้แก่กัน
ขนมไทยมงคลของนั้นมีที่มาตั้งแต่ในสมัยโบราณ ซึ่งมักจะทำขนมขึ้นในวันสำคัญหรือเมื่อมีพิธีกรรมทางศาสนาเพื่อความเป็นสิริมงคล
ดังนั้นผู้คนในสมัยนั้นจึงจะต้องมีความพิถีพิถันในการทำขนม ตลอดจนการเลือกวัตถุดิบที่ดีและมีความหมายมงคลก็เป็นสิ่งที่สำคัญ โดยขนมไทยที่นิยมนำมาใช้ในงานมงคลก็มีอยู่มากมายแต่ในปัจจุบันอาจจะพบเห็นอยู่เพียงไม่กี่ชนิด เช่น ฝอยทอง ทองหยิบ ทองหยอด เม็ดขนุน ขนมชั้น ทองเอก เป็นต้น
ที่มาของภาพ
-https://www.newtv.co.th/news/38125
-https://www.pinterest.com/pin/385691155584276522/
-http://27siriyakorn23.blogspot.com/2018/07/blog-post_80.html
-https://www.wongnai.com/recipes/kanom-chan
-https://waterlibrary.com/9-golden-family-thai-dessert-good-meaning-and-used-in-auspicious-ceremonies/